รูปแบบทางสถาปัตยกรรม

หอปรัชญารัชกาลที่ 9 มีแนวคิดในการออกแบบ สถาปัตยกรรมแบบล้านนาประยุกต์ ซึ่งสะท้อนปรัชญา 3 ด้าน ประกอบด้วย 1. ปรัชญาในรัชกาลที่ 9 2. ปรัชญาของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย คือ “รากแก้วของแผ่นดิน” 3. ปรัชญาทางสถาปัตยกรรมล้านนากล่าวคือ การออกแบบรูปทรงทางสถาปัตยกรรม สะท้อนถึงความเรียบง่ายของรูปทรง อาคารแบบล้านนา และ เลือกใช้วัสดุท้องถิ่น อาทิ หลังคาแป้นเกร็ดไม้ เป็นต้น การออกแบบพื้นที่การใช้งานภายในอาคารสะท้อนแนวคิดการเข้าถึงง่าย และสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการจัดวางแนวอาคารในแนวเหนือใต้เพื่อป้องกันแดด แต่สามารถรับแสงธรรมชาติได้ มีการระบายอากาศได้อย่างดี และไม่นำฝนเข้าสู่อาคาร นอกจากนี้ยังได้นำเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมล้านนา โดยการประยุกต์เสาใจบ้านมาเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของอาคาร

ตัวอาคาร หอปรัชญารัชกาลที่ 9 เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย 7,000 ตารางเมตร ภายใน ประกอบด้วย บริเวณชั้นที่ 3 จัดนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และโครงการตามแนวพระราชกรณียกิจต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และพระราชวงศ์ ถัดมาเป็นห้องอเนกประสงค์และห้องนิทรรศการประวัติมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ชั้นที่ 2 จัดตั้งเป็นหอจดหมายเหตุ มีห้องนำเสนอเรื่องราวแบบมัลติมีเดียและการแสดงต่างๆ และบริเวณชั้น 1 เป็นห้องประชุมใหญ่สำหรับการจัดนิทรรศการหมุนเวียน

นอกจากนี้ หอปรัชญารัชกาลที่ 9 ตั้งอยู่บนพื้นที่ริมสระบัวเล็ก มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีภูมิประเทศสวยงาม มีความโดดเด่น และเกี่ยวข้องกับน้ำทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับโครงการตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการ และแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับน้ำ