นักวิชาการชั้นนำของประเทศ ชี้ ร.9 ทรงมุ่งมั่นที่จะ”ลดความเหลื่อมล้ำ”ของคนไทยตั้งแต่ทรงขึ้นครองราชย์

รัชกาลที่ 9 ทรงใช้หลักความสมดุลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ด้านศ.ดร.ผาสุกชี้สังคมควรร่วมลงทุนด้านการศึกษา และสุขภาพเพื่อให้เกิดความพอเพียงในทุกกลุ่ม เพื่อทำให้ประชาชนช่วยเหลือตัวเองได้


เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2561 เวลา 8.30-12.00 น. สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ราชบัณฑิตยสภา และหอปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายได้จัดการประชุมวิชาการราชบัณฑิตสัญจร ประจำปี 2561 เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำตามศาสตร์พระราชา โดยการประชุมวิชาการครังนี้จัดขึ้นและดำเนินรายการโดย ศาสตราจารย์ ดร.สมบูรณ์ สุขสำราญ ราชบัณฑิตสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง และได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร และศาสตราจารย์ ดร.ปรานี ทินกร ซึ่งนักวิชาการชั้นนำระดับประเทศมาเป็นวิทยากรในครั้งนี้

ศาสตราจารย์ ดร.ปรานี ทินกร นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ของประเทศเป็นผู้อภิปรายคนแรก โดยได้ชี้ให้เห็นว่าจากพระปฐมบรมราชโองการแก่ประชาชนชาวไทยว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม...” ได้เป็นหลักฐานสำคัญที่ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่จะทรงงานเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนพสกนิกร เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งพระองค์ได้เห็นความสำคัญและทรงทุ่มเททำงานด้านนี้มาโดยตลอด สำหรับการลดความเหลื่อมล้ำตามศาสตร์พระราชานั้น รัชกาลที่ 9 ทรงใช้หลักความสมดุล และหลักความรู้ความเข้าใจ ก่อนทรงงานจะทรงหาข้อมูลด้วยพระองค์เองแล้วจะประมวลว่าควรจะใช้หลักความรู้หลักวิชาการใดมาใช้ในการแก้ปัญหา 

ด้านศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาสำคัญของโลกที่พยายามแก้ไข ซึ่งการลดความเหลื่อมล้ำนั้นควรให้ความสำคัญกับการศึกษาและสุขภาพเป็นอันดับแรก เพราะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของความพอเพียงในตัวเองที่จะใช้ความสามารถของตนเองสร้างชีวิตให้มีคุณภาพได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่นมากนัก เช่นลูกคนรวยเกิดมาพร้อมฐานะและทรัพย์สินย่อมมีความพอเพียงของตนเอง แต่ถ้าเป็นลูกคนจนเกิดมามีแต่พ่อแม่ไม่มีทรัพย์สินอย่างอื่น ย่อมยังไม่มีความพอเพียง ดังนั้น สังคมควรร่วมกันลงขันสำหรับการศึกษาและเศรษฐกิจผ่านระบบการจ่ายภาษี โดยคนที่มีรายได้ดีควรจะจ่ายภาษีมาก ส่วนคนรายได้น้อยก็ควรจะจ่ายน้อยตามกำลังของแต่บุคคล ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนมีความพอเพียงสามารถที่จะช่วยเหลือตนเองได้


ขณะที่ศาสตราจารย์ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ได้กล่าวถึงความสำคัญของมหาวิทยาลัยราชภัฏว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงให้ความสำคัญกับมหาวิทยาลัยราชภัฏในการเป็นสถาบันการศึกษาสำหรับชุมชนและท้องถิ่น เพื่อสร้างคนดี ดังนั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏควรจะตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างคนดีตามแบบอย่างของพระองค์
 

สำหรับการจัดประชุมครั้งนี้หอปรัชญารัชกาลที่ 9 ในฐานะหน่วยงานที่ร่วมจัดการประชุมถือว่าเป็นภารกิจหนึ่งที่สำคัญในการที่จะเผยแพร่องค์ความรู้ตาม “ศาสตร์พระราชา” ทั้งในรูปแบบของนิทรรศการ การประชุมวิชาการ และการสนับสนุนองค์ความรู้ให้กับชุมชน